งานพิมพ์แต่ละประเภทนั้น จะมีความเหมาะกับการใช้งานที่แตกต่างกันไป และมีลักษณะของการพิมพ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งการพิมพ์ เป็นการจำลองต้นฉบับ อาจจะเป็นภาพหรือเป็นตัวหนังสือก็ได้ ทั้งนี้การพิมพ์ไม่ได้เป็นการสร้างต้นฉบับ แต่เป็นการจำลองต้นฉบบ หรือการสำเนาออกมา โดยลงบนวัตถุที่มีพื้นผิวเรียบ แบนราบ โค้งนูน หรือค่อนข้างขรุขระเพียงเล็กน้อย ให้มีคุณภาพใกล้เคียงกับต้นฉบับมากที่สุด และคำนึงถึงปริมาณในการผลิตจำนวนมาก แต่สิ่งที่ทำมาเป็นสำเนา จะไม่ใช้การพิมพ์ประเภทเดียว แต่จะเลือกให้เหมาะกับประเภทงานพิมพ์ และจะทำให้งานพิมพ์ออกมาดี
ประเภทของงานพิมพ์ ที่ยังนิยมใช้อยู่ในปัจจุบัน
งานพิมพ์ดิจิตอล (Digital Printing) เป็นการพิมพ์ที่ใช้เครื่องพิมพ์ หรือพริ้นเตอร์ต่อพ่วงกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถสั่งพิมพ์ได้โดยตรงจากเครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องพิมพ์หรือพริ้นเตอร์ ทั้งนี้งานพิมพ์ดิจิตอล มักจะใช้กับงานพิมพ์ที่มีขนาดเล็กและมักจะต้องพิมพ์ใหม่บ่อย ๆ หรือเป็นงานพิมพ์ที่มีปริมาณไม่มาก มีการเปลี่ยนภาพ หรือข้อความบ่อย ๆ ตัวอย่างงานพิมพ์ประเภทนี้ ได้แก่ นามบัตร แผ่นพับ ใบปลิว หนังสือ เป็นต้น
งานพิมพ์ออฟเซ็ท (Offset Printing) เป็นการพิมพ์พื้นราบที่ใช้หลักการน้ำกับน้ํามันไม่รวมตัวกัน แต่จะเป็นการสร้างเยื่อน้ำไปเกาะอยู่บนบริเวณไร้ภาพของแผ่นแม่พิมพ์ เมื่อรับหมึก หมึกจะไม่เกาะน้ำแต่จะไปเกาะบริเวณที่เป็นภาพแล้วถูกถ่ายลงบนผ้ายางและกระดาษพิมพ์ต่อไป ดังนั้นการพิมพ์ออฟเซ็ทจึงสามารถผลิตงานพิมพ์ที่มีคุณภาพสูงจนถึงสูงมาก และยังมีเครื่องพิมพ์หลายขนาด ทั้งเครื่องพิมพ์ 1 สี 2 สี 4 สี 5 สี หรือมากกว่านั้น ตัวอย่างงานพิมพ์ประเภทนี้ ได้แก่ งานพิมพ์ใช้ในสำนักงาน แผ่นพับ ใบปลิว หนังสือ วารสาร นิตยสาร การ์ด เป็นต้น
งานพิมพ์เลตเตอร์เพรส (Letterpress Printing) เป็นการพิมพ์พื้นนูนที่ใช้แม่พิมพ์ทําจากโลหะผสมหรือพอลิเมอร์อย่างหนากัดผิวจนเหลือส่วนที่เป็นภาพนูนสําหรับรับหมึกพิมพ์ แล้วถ่ายทอดลงบนวัสดุที่ใช้พิมพ์โดยใช้วิธีกดทับ ซึ่งในปัจจุบันการพิมพ์ประเภทนี้ ไม่ค่อยมีให้เห็น เพราะการทำแม่แบบ ค่อนข้างที่จะยุ่งยากและลำบาก ตัวอย่างงานพิมพ์ประเภทนี้ ได้แก่ กล่อง ฉลาก นามบัตร ป้าย งานพิมพ์อื่น ๆ ที่ไม่ต้องการความละเอียดมาก เป็นต้น
งานพิมพ์ซิลค์สกรีน (Silkscreen Printing) เป็นการพิมพ์พื้นฉลุที่ใช้หลักการพิมพ์โดยให้หมึกซึมทะลุผ่านผ้าที่ขึงตึงไว้และให้ทะลุผ่านเฉพาะบริเวณที่เป็นภาพ สามารถพิมพ์งานสอดสีและพิมพ์บนวัสดุที่มีผิวโค้งได้ ทั้งนี้ในความละเอียดของภาพพิมพ์จะขึ้นอยู่กับความถี่ของเส้นใยผ้า และสามารถพิมพ์ลงบนวัสดุได้หลากหลากชนิด ตัวอย่างงานพิมพ์ประเภทนี้ ได้แก่ ป้าย นามบัตร พลาสติก โลหะ เสื้อผ้า ขวด จานชาม บรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
การพิมพ์เฟล็กโซกราฟี (Flexography) เป็นการพิมพ์พื้นนูนที่ใช้แผ่นพอลิเมอร์ที่มีความยืดหยุ่นที่ดีเป็นแม่พิมพ์ โดยหลักการพิมพ์จะคล้ายกับการพิมพ์แบบเลตเตอร์เพรส คือใช้การกดทับ แต่หมึกที่ใช้จะเหลวกว่าและใช้ลูกกลิ้งที่ทําขึ้นเป็นพิเศษทําหน้าที่จ่ายหมึก ในปริมาณที่สม่ำเสมอให้กับแม่พิมพ์ ถึงแม้คุณภาพงานพิมพ์จะยังเทียบเท่าการพิมพ์แบบออฟเซ็ทไม่ได้ แต่ก็มีใช้ในส่ิงพิมพ์หลาย ๆ ประเภท ตัวอย่างงานพิมพ์ประเภทนี้ ได้แก่ กล่องลูกฟูก ป้าย กระดาษชำระ ถุง ซองพลาสติก เป็นต้น
งานพิมพ์กราวัวร์ (Gravure) เป็นการพิมพ์พื้นลึกที่ใช้แม่พิมพ์ท่ีเป็นร่องลึกสําหรับบริเวณที่เป็นภาพ เพื่อเก็บหมึกแล้วไว้ปล่อยลงบนผิวของชิ้นงานพิมพ์ ซึ่งแม่พิมพ์แบบนี้มักเป็นลูกกลิ้งทรงกระบอก ทําด้วยโลหะใช้วิธีกัดผิวทรงกระบอกเป็นหลุมตามบริเวณที่เป็นภาพ จึงทํายากและใช้เวลา อีกทั้งยังมีค่าใช้จ่ายสูง จึงเหมาะกับงานยาว ๆ ตัวอย่างงานพิมพ์ประเภทนี้ ได้แก่ ซองพลาสติกใส่อาหารและขนม งานพิมพ์บนพลาสติกต่าง ๆ งานพิมพ์ในต่างประเทศบางแห่งมีการพิมพ์แมกกาซีน เป็นต้น
ทั้งหมดนี้คือประเภทของงานพิมพ์ ที่ยังนิยมใช้อยู่ในปัจจุบัน ซึ่งทั้ง 6 ประเภทนี้ก็เหมาะกับงานพิมพ์ที่แตกต่างกันไป ดังนั้นจึงควรเลือกให้เหมาะสมกับงานพิมพ์ของตัวเอง เพื่อให้งานพิมพ์ออกมาดี มีคุณภาพและสวยงาม ตรงตามความต้องการ
รูปภาพ : pinterest.com และ freepik.com